facebook

วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

การใช้สำนวนโวหาร




 การใช้สำนวนโวหาร
ความหมายของโวหาร
โวหาร หมายถึง ถ้อยคำที่ใช้ในการสื่อสารที่เรียบเรียงเป็นอย่างดี  มีวิธีการ  มีชั้นเชิงและมีศิลปะ  เพื่อสื่อให้ผู้รับสารรับสารได้อย่างแจ่มแจ้ง   ชัดเจนและลึกซึ้ง  รับสารได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร
ประเภทของสำนวนโวหาร มี 5 ประเภท ได้แก่
   1.      บรรยายโวหาร
    2.      พรรณนาโวหาร
 3.      เทศนาโวหาร
4.      สาธกโวหาร
5.      อุปมาโวหาร


          1. บรรยายโวหาร คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์ การเขียนบรรยายโวหาร จะมุ่งความชัดเจน เขียน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ในการเขียนทั่ว ๆ ไปมักใช้บรรยายโวหาร เพราะเหมาะในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากสำนวนประเภทนี้มุ่งสาระเขียนอย่างสั้นๆ ได้ความชัดเจนงานเขียนที่ควรใช้บรรยายโวหาร ได้แก่ การเขียนอธิบายประเภทต่าง ๆเช่น เขียนรายงานวิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เช่น บันทึก จดหมายเหตุ การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นประเภทบทความเชิงวิจารณ์ ข่าว เป็นต้น 
หลักการเขียนบรรยายโวหาร 
1) เรื่องที่เขียนต้องเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนเป็นอย่างดี โดยอาจรู้มาจากประสบการณ์ หรือการค้นคว้าก็ได้
2) เลือกเขียนเฉพาะสาระสำคัญ ไม่เน้นรายละเอียด แต่เขียนตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม
3) ใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย หากต้องการจะกล่าวให้ชัดอาจใช้อุปมาโวหารและสาธกโวหารเข้าช่วยได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนส่วน ที่เป็นสาระสำคัญกลายเป็นส่วนด้อยไป  

4) เรียบเรียงความคิดให้ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กัน 

                                             ภาพที่ 1 : ภูเขาไฟฟูจิ
ตัวอย่าง : บรรยายโวหาร
 ภูเขาไฟฟูจิเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นมาหลายศตวรรษแล้ว  แต่แรกภูเขานี้เป็นที่เคารพบูชา ของชนพื้นเมืองเผ่าไอนุซึ่งปัจจุบันยังอยู่ตามหมู่เกาะฮอกไกโด  ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ ที่อยู่เหนือสุดชาวไอนุขนานนาม ภูเขานี้ตามชื่อเทพธิดา  “ฟูชิ”  ผู้เป็นเทพธิดาแห่งอัคคี  ชาวญี่ปุ่นยังคงนับถือภูเขาไฟฟูจิต่อมา  และเรียกชื่อตามที่พวกไอนุตั้งไว้   บรรดาผู้นับถือศาสนาชินโตเชื่อว่าในธรรมชาติทุกรูปแบบจะมีเทพ  หรือ  กามิสถิตอยู่  แต่เทพที่สถิตในภูเขาจะศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ  ภูเขาฟูจิซึ่งสูงที่สุดและงามที่สุดในประเทศ จึงได้รับความเคารพเป็นพิเศษ  เพราะถือว่าเป็นสถานที่สถิตของทวยเทพ  เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างความ ลึกลับของสวรรค์  และความเป็นจริงของโลกมนุษย์
(เกศกานดา  จตุรงคโชค (บรรณาธิการ): โลกพิสดาร  แดนพิศวง)
          2. พรรณนาโวหาร มีจุดมุ่งหมายในการเขียนต่างจากบรรยายโวหาร คือมุ่งให้ความแจ่มแจ้ง ละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นการเขียนพรรณาโวหารจึงยาวกว่าบรรยายโวหารมาก แต่มิใช่การเขียนอย่างเยิ่นเย้อ เพราะพรรณนา-โวหารต้องมุ่งให้ภาพ และอารมณ์ ดังนั้น จึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง ใช้ภาพพจน์ แม้เนื้อความที่เขียนจะน้อยแต่เต็มด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะ อ่านได้รสชาติ 
หลักการเขียนพรรณนาโวหาร 
1) ต้องใช้คำดี หมายถึง การเลือกสรรถ้อยคำ เพื่อให้สื่อความหมาย สื่อภาพ สื่ออารมณ์เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่ต้องการบรรยาย ควรเลือกคำ ที่ให้ความหมายชัดเจน ทั้งอาจต้องเลือกให้เสียงคำสัมผัสกันเพื่อเกิดเสียงเสนาะอย่างสัมผัสสระ สัมผัสอักษร ในงานร้อยกรอง 
2) ต้องมีใจความดี แม้จะพรรณนายืดยาว แต่ใจความต้องมุ่งให้เกิดภาพ และอารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพรรณนา 
3) อาจต้องใช้อุปมาโวหาร คือ การเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ภาพชัดเจน และมักใช้ศิลปะการใช้คำที่เรียกว่า ภาพพจน์ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้พรรณนาโวหารเด่น ทั้งการใช้คำ และการใช้ภาพที่แจ่มแจ้ง อ่านแล้วเกิดจินตนาการและความรู้สึกคล้อยตาม 
4) ในบางกรณีอาจต้องใช้สาธกโวหารประกอบด้วย คือ การยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้ง โดยยกตัวอย่างสิ่งที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เกิดภาพและอารมณ์เด่นชัดพรรณนาโวหารมักใช้กับการชมความงามอื่น ๆ เช่น ชมสถานที่ สรรเสริญบุคคล หรือใช้พรรณนาอารมณ์ ความรู้สึก เช่น รัก เกลียด



   ภาพที่ 2 : คนบนต้นไม้
ตัวอย่าง : พรรณนาโวหาร

เขาใช้แขนยันพื้นดิน อาการเหนื่อยอ่อน กลิ่นน้ำฝนบนใบหญ้าและกลิ่นไอดินโซนเข้าจมูกวาบหวิว อยากให้มีใครซักคนผ่านมาพบ เพื่อพาเขากลับไปหาหมอในหมู่บ้าน มดหลายตัวเดินสวนขบวนผ่านไปมา มันไม่มีทีท่าจะสนใจเขาเลยแม้แต่น้อย เขามองดูมันอย่างเลื่อนลอยทำไมมัน จึงเฉยเมยกับฉัน มันคงรู้แน่ ฉันอยากให้มันเป็นคนจริงๆ ฉันจะต้องกลับบ้านให้ได้ เขาคิดพลางเหม่งมองดูยอดสนของหมู่บ้าน หาดเสี้ยวเห็นอยู่ไม่ไกล ดวงอาทิตย์สีแดงเข้มกำลังคล้อยลงเหนือยอดไม้ทางทิศตะวันตก 
(นิคม  รายวา: คนบนต้นไม้ )
          3. เทศนาโวหาร หมายถึง โวหารที่มีจุดหมายแสดงความแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามหรืออาจกล่าวได้ว่ามุ่งชักจูงให้ผู้อ่าน คิดเห็นหรือคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียนเทศนาโวหาร จึงยากกว่าโวหารที่กล่าวมาแล้วทั้ง 2 โวหาร เพราะต้องใช้กลวิธีในการชักจูงใจ 
หลักการเขียนเทศนาโวหาร 
การเขียนเทศนาโวหารต้องใช้โวหารประเภทต่าง ๆ มาประกอบ กล่าวคือทั้งใช้บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร รวมทั้งอุปมาโวหาร และ สาธกโวหารด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ใจความชัดเจนแจ่มแจ้ง มีทั้งความหลักและความรองเป็นที่เข้าใจจนเกิดความรู้สึกนึกคิดคล้อยตามผู้เขียน ไปได้หากเป็นการแสดงความคิดเห็นควรอธิบายทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และโทษ หรือแสดงเหตุและผลการเขียนเทศนาโวหาร ผู้เขียนต้อง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนเป็นอย่างดี สามารถอธิบายอย่างชัดเจน ทั้งควรพรรณนาให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต้องรู้จักใช้เหตุผล และหลักฐานสนับสนุนความคิดเห็นที่ตนเสนอด้วย การลำดับความให้สัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลจึงเป็นหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการเขียนเทศนาโวหารโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า เทศนาโวหาร แปลว่า โวหารที่มุ่งสั่งสอน โดยตีความคำว่าเทศนา ว่าสั่งสอน ความจริงเทศนาในที่นี้ หมายถึง แสดง กล่าวคือ แสดงอย่างแจ่มแจ้งเพื่อให้เห็นคล้อยตาม รูปแบบงานเขียนที่ควรใช้เทศนาโวหารคือ งานเขียนประเภทบทความชักจูงใจ หรือบทความแสดงความคิดเห็น ความเรียง เป็นต้น 



                                                        ภาพที่ 3 : หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ตัวอย่าง : เทศนาโวหาร

  “…เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล  จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้  ปัญหาเฉพาะในด้านการรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ   อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางการ
ออกเสียง  คือ  ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน  อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีการใช้  หมายความว่า  วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยคนับเป็นปัญหาที่สำคัญ  ปัญหาที่สาม  คือ  ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย  ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ  จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...”
           “...ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า  ได้มีการใช้ถ้อยคำออกจะฟุ่มเฟือยและไม่ตรงกับความอันแท้จริง
อยู่เนือง ๆ  ทั้งการออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี   ถ้าปล่อยให้เป็นดังนี้ภาษาของเราก็มีแต่ 
จะทรุดโทรม  ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งประเสริฐอยู่แล้ว  เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเรา  ทุกคนมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้...”
(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
          4.สาธกโวหาร คือ โวหารที่มุ่งให้ความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้งหรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้หนักแน่น น่าเชื่อถือ สาธกโวหารเป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหารเช่นการเลือกยกตัวอย่างมีหลักที่ควรเลือกให้เข้ากับเนื้อความ อาจยกตัวอย่างสั้น ๆ ในบรรยายโวหารหรืออาจยกตัวอย่างที่มีรายละเอียดประกอบในพรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เป็นต้น ในการเขียนข้อเขียนต่าง ๆ นิสิตควรรู้จักเลือกใช้โวหารให้เหมาะกับจุดมุ่งหมายในการเขียนและเนื้อหาในบางโอกาส อาจต้องใช้โวหารหลายชนิดในงานเขียนชิ้นหนึ่งก็ได้ หลักสำคัญอยู่ที่ว่าต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาส จุดมุ่งหมายและเขียนได้อย่างถูกต้อง ตามลักษณะโวหารนั้น ๆ 



ภาพที่ 4 : ชาวนากับงูเห่า

ตัวอย่าง : สาธกโวหาร

  ถ้าเธอไม่อยากอยู่กับฉันจริงจริง ยินยอมทุกสิ่ง ให้เธอทิ้งไป    ฉันขอแค่เพียงให้เวลาหน่อยได้ไหม อยากเล่านิทานให้ฟัง  ชาวนาคนหนึ่งมีชีวิตลำพัง ไปเจองูเห่ากำลังใกล้ตายสงสาร 

จึงเก็บเอามาเลี้ยงโดยไม่รู้ สุดท้ายจะเป็นอย่างไร  คอยดูแลด้วยความจริงใจ ห่วงใย และคอยให้ความรักเป็นกังวลว่ามันจะตาย เฝ้าคอยเอาใจทุกอย่าง   แต่สุดท้ายชาวนาผู้ชายใจดี ด้วยความ 

ที่เขาไว้ใจ น่าเสียดายกลับต้องตาย ด้วยพิษงู  นิทานมันบอกให้ยอมรับความจริง  ว่ามีบางสิ่ง 

ไม่ควรไว้ใจ  อะไรบางอย่างที่ทำดีซักแค่ไหน ไม่เชื่อง ไม่รัก ไม่จริง 

(สีฟ้า: ชาวนากับงูเห่า)
          5.อุปมาโวหาร หมายถึง โวหารเปรียบเทียบ โดยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าอุปมาโวหาร คือ ภาพพจน์ประเภทอุปมานั่นเอง อุปมาโวหารใช้เป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้ชัดเจนน่าอ่าน โดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือเปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปมา โวหารนั้นจะนำไปเสริมโวหารประเภทใด



                 ภาพที่ 5 : นางในวรรณคดี                                    
ตัวอย่าง : อุปมาโวหาร
…ดังนี้เจ้าจะเห็นได้ว่าเมียที่พ่อจัดหาให้มีตระกูล สมชาติ สมเชื้อกันดี เพราะตระกูลของเราก็มั่งมี มีคนนับหน้าถือตา ญาติพี่น้องทั้งฝ่ายบิดามารดาของนางก็บริบูรณ์ รูปร่างงามหาตำหนิมิได้ ผมดำราวกับแมลงผึ้ง หน้าเปล่งปลั่งดั่งดวงจันทร์ เนตรประหนึ่งตากวาง จมูกแม้นดอกงา ฟันเทียบไข่มุก ริมฝีปากเพียงผลตำลึงสุก เสียงหวานปานนกโกกิลา ขาคือลำกล้วย เอวเหมาะเจาะไม่อ้วนเกิน เวลาย่างเดินแคล่วคล่องมีสง่าเสมอช้างทรง เพราะฉะนั้นเจ้าจะหาทางตำหนิขัดข้องมิได้เลย...     
(เสฐียรโกเศศ: กามนิต)

อ้างอิง
ครูโอ๋ สื่อการเรียนการสอน.  (2559).  ข้อความที่เป็นโวหารต่างๆ -
          สื่อการเรียนการสอน ภาษาไทย ป.6ค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561.
การใช้สำนวนโวหาร. ค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561.
                  จากhttp://www.kr.ac.th/tech/nittaya48/writh50.html
โวหารค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561. 
          จาก
 
http://www.ipesp.ac.th/learning/thai/chapter5-10.html
https://www.google.co.th/search?q=%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B8%88%E0%B8%B4&dcr=0&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ved=0ahUKEwjv2MHz1OXYAhUTUI8KHSkEAzwQ_AUICigB&biw=1366&bih=637#imgrc=JG1cKMxDIOqV7M:


https://www.google.co.th/search?dcr=0&biw=1366&bih=588&tbm=isch&sa=1&ei=cdJiWoeUKpWOvQTGnL2YAw&q=%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%87%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%B2&oq=%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%87%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%B2&gs_l=psy-ab.3...47340.49896.0.50665.4.4.0.0.0.0.60.60.1.4.0....0...1c.1j2.64.psy-ab..0.0.0.0...59.KGA6OKD7WPY#imgrc=6VlS7xG3nbs2uM:

https://www.google.co.th/search?dcr=0&biw=1366&bih=588&tbm=isch&sa=1&ei=pdJiWpm0C8r-vASDt6TwBg&q=%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5&oq=%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5&gs_l=psy-ab.3..0l10.41261.43887.0.45288.4.4.0.0.0.0.75.75.1.4.0....0...1c.1j2.64.psy-ab..0.1.74.0...54.g9jHy-MfUq4#imgrc=Aq17UZudcqGRwM:



1 ความคิดเห็น: